เปิดแผนลงทุน "LPP" พร้อมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 67
28 มี.ค. 2567
บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP บริษัทลูกของ LPN ที่มีอายุครบ 32 ปี และก้าวสู่ปีที่ 33 อย่างแข็งแกร่งด้วยอัตราการเติบโตถึง 30% รายได้แตะ 1,500 ล้านบาท ด้วยสภาพของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสมากขึ้น โดย LPP เตรียมแผนลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง รับแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2567
บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP เป็นบริษัทลูกของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (LPN) ที่มีอายุห่างจากแม่เพียง 2 ปี ในช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์บูม การขับเคลื่อนลงทุนและแผนธุรกิจต่าง ๆ จึงมาจากบริษัทแม่เป็นหลัก แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ขณะที่ธุรกิจสนับสนุนอย่างการบริหารจัดการโครงการฯกลับเติบโตและมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป
LPP ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ พร้อมวางยุทธศาสตร์ 5 ปี (2565 – 2569) ก้าวสู่ผู้นำในธุรกิจบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร (Property & Facility Management Service Provider) โดยตั้งเป้ามีรายได้รวมกว่า 2,000 ล้านบาท ในปี 2569 ผ่านมา 2 ปี LPP สามารถทำรายได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยวิสัยทัศน์ของ สุรวุฒิ สุขเจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP ในการมองหา New S – Curve ใหม่อยู่ตลอดเวลา
3 ปี รายได้เติบโต 10-20% ต่อปี
สุรวุฒิ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ LPP ในปี 2566 นี้ คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีรายได้ 1,200 ล้านบาท และในปี 2567 บริษัทได้ตั้งเป้าหมายรายได้ที่ 1,800 ล้านบาท เติบโตจากปีนี้อีก 20% ซึ่งจะทำให้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของ LPP ถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าที่คาด
“เราดำเนินการไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ หลังปรับโครงสร้างองค์กรเมื่อปี 2564 และเมื่อมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามา เราพร้อมที่จะเปิดรับ ทำให้บริษัทขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเราพร้อมสร้างการเติบโตอย่างไม่จำกัดในช่วง 1- 2 ปีข้างหน้า” สุรวุฒิกล่าว
LPP มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2567 ซึ่งการดำเนินงานยังเป็นไปตามแผน คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งต่อก.ล.ต.ได้ในเดือนเมษายน คาดว่าจะเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 150 เป็น 200 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าหลังเข้าตลาดฯ จะมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม ปัจจุบันธุรกิจบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรมีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในกลุ่มบริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ มี 3 บริษัท ได้แก่ LPP บริหารจัดการนิติบุคคลให้กับคอนโดมิเนียมและบ้านรวม 300 โครงการ บริษัท แอล พี เอส โปรเจค มาเนจเมนท์ จำกัด (LPS) บริการงานออกแบบด้านวิศวกรรม และ บริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่นส์ จำกัด (LSS) บริการแม่บ้านและรปภ.
โดย LPP มีสัดส่วน 80% จากรายได้รวม ขณะที่ LPS และ LSS มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในอนาคตสัดส่วนจากธุรกิจบริการด้านวิศวกรรมจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ต้องมีการปรับปรุงอาคารเก่า รวมถึงการอัปเกรดเทคโนโลยีสู่ Smart Building และการติดตั้งระบบ IOT
ลงทุนเพิ่มขยายโอกาสธุรกิจ
สุรวุฒิ กล่าวว่า จากแนวโน้มตลาดการปรับปรุงและอัปเกรดอาคารเก่าที่ขยายตัวสูง เนื่องจากการขยายตัวของรถไฟฟ้า บริษัทฯ ได้เข้าซื้อบริษัท พี ดับบลิว กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (PWG) ให้บริการรับเหมาก่อสร้าง งานระบบต่าง ๆ เป็นบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจจากศูนย์การค้าอย่างสยามพารากอน รวมถึงโรงแรม และโรงพยาบาลชั้นนำในปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 80 ล้านบาท
ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 130 ล้านบาท โดย LPP เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 60% โดยบริการต่าง ๆ ที่จะเข้าไปติดตั้งเพิ่มเติมให้กับลูกค้า อาทิ โซลาร์ รูฟ สถานีชาร์จ EV และระบบประหยัดพลังงานเครื่องปรับอากาศ
“สิ่งที่ลูกบ้านต้องการมากที่สุดตอนนี้ คือการติดตั้งระบบประหยัดพลังงาน โซลาร์ รูฟ ส่วนสถานีชาร์จ EV มีประมาณ 7 โครงการ ส่วนเทรนด์ Smart Building กำลังมา การลงทุนการปรับปรุงด้านวิศวกรรม ช่วยทำให้โครงการมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ยิ่งลูกค้าเห็นประโยชน์ ก็จะยิ่งทำให้บริษัทเติบโตเร็ว”
นอกจากนี้ LPP ยังขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการเข้าบริหารโครงการที่พักนิสิตจุฬาฯ จำนวน 460 ห้อง โดยได้รับสัมปทานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 7 ปี ซึ่งสุรวุฒิ มองว่า การเข้าบริหารโครงการที่พักอาศัยระดับกลางขึ้นไปที่มีจำนวน 100 ห้องขึ้นไป มีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น เพราะเจ้าของโครงการต้องการมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหาร ในปี 2567 บริษัทฯจึงตั้งงบลงทุน 200 – 300 ล้านบาท เพื่อหาโอกาสในการเข้าประมูลปรับปรุงและบริหารโครงการเหล่านี้เพิ่มขึ้น
รวมทั้งจะลงทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่สามารถให้บริการในระบบดิจิทัลทั้งสัญญา การบริหารงานบุคคล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วและไร้เอกสาร
สุรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจของ LPP มีปัญหาที่น่ากังวล คือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท ทำให้ต้นทุนแม่บ้านและรปภ.เพิ่มขึ้นทันที รวมถึงการคำนวณค่าล่วงเวลาใหม่จะมีผลทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 50 – 60% ทันที ซึ่งบริษัทได้เตรียมแผนรองรับในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริหารคนให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“เรายึดมั่นตามแนวทางของบริษัทแม่ในการต่อยอด “ชุมชนน่าอยู่” ด้วยการขยายบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกบ้าน ผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง และวันนี้เราเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้ และพร้อมที่จะลงทุนกับธุรกิจที่เป็น New S Curve เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในอนาคต” สุรวุฒิกล่าว