“สุรวุฒิ” เปิด 3 จิ๊กซอร์ดัน “LPP” เข้าตลาดหุ้น
วันที่ 16 พ.ค. 2566
“LPP” เปิด 3 จิ๊กซอร์ธุรกิจ สู่การเป็นผู้นำในการบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างครบวงจรมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยในทุกชุมชนภายใต้แนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” พร้อมเข้าตลาดหุ้น ปี 2567 เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจดันดันรายได้เติบโตเท่าตัว แตะระดับ 2,400 ล้านบาท ปี 2569
นายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) บริษัทบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางและแผนขยายธุรกิจสู่การเป็นผู้บริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างครบวงจร (Property & Facility Management Service Provider) ว่า หลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) การบริหารและจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างคุณภาพในการอยู่อาศัยโดยคำนึงถึงสุขภาวะที่ดี (Wellbeing) เป็นประเด็นที่ผู้อยู่อาศัยในโครงการอาคารชุดพักอาศัย รวมไปถึงอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และอาคารเชิงพาณิชย์ ต่างให้ความสำคัญ และทำให้ความต้องการงานบริการดูแลและบริหารจัดการโครงการที่มีคุณภาพมีแนวโน้มที่สูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของ LPP ในการขยายงานได้ตามแผนที่วางไว้
“ตลอดเวลากว่า 3 ปี ของการแพร่ระบาดของ COVID-19 LPP ประสบความสำเร็จในการดูแลและบริหารชุมชนภายใต้การดูแลกว่า 200 ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนให้เห็นคุณภาพการทำงานของ LPP ในขณะเดียวกันเราได้เรียนรู้ในการพัฒนางานรวมถึงการวางแผนการจัดการทำให้เรามีการปรับโครงสร้างการบริหารโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้เรามีความพร้อมในการขยายงานบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งอาคารพักอาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า รวมทั้งอาคารประเภทอื่นๆ มากขึ้น เพื่อส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ที่ใช้งานในแต่ละอาคาร ภายใต้แนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะที่ดี” นายสุรวุฒิ กล่าว
ภายใต้แนวคิดดังกล่าว นายสุรวุฒิ กล่าวว่า LPP ได้วางแผนให้ LPP, บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด (LPS) และ บริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่น จำกัด(LSS) เป็น 3 จิ๊กซอร์ ในการต่อยอดและขยายธุรกิจ ดังนี้
– แผนขยายการลงทุนในธุรกิจดูแลงานซ่อมบำรุงอาคาร เป็นจิ๊กซอร์ตัวแรก โดยในปี 2566 นี้ LPS เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจที่ปรึกษาในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รวมไปถึงการบริหารงานก่อสร้างมีแผนที่จะขยายงานไปในการรับเหมาก่อสร้าง และเป็นผู้เขี่ยวชาญ(Specialist) ในการซ่อมแซมและบำรุง ปรับปรุงอาคาร ตกแกต่งภายในและการบริหารจัดการด้านพลังงาน(Energy Management) เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และเพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นบริษัทที่ LPP ถือหุ้นในสัดส่วน 100% จะเข้าซื้อกิจการรับเหมาซ่อมแซม และรุกในธุรกิจ Energy management เช่น Solar Roof เพื่อที่จะให้บริการอย่างครบวงจร
– ขยายธุรกิจให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร (Facility Service) ทั้งรักษาความปลอดภัย การบริการแม่บ้าน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในอาคาร โดย บริษัท LSS ที่ LPP ถือหุ้น 100% โดยที่ผ่านมา LSS ได้รับความเชื่อมั่นและมีการเติบโตที่ดี ทำให้สามารถขยายงานสู่กลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย เช่นบริการรักษาความปลอดภัยให้แก่ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ TOPS super market เป็นต้น และในปี 65 ที่ผ่านมา LSS ได้เปิดธุรกิจบริการทำความสะอาด (cleaning service) โดยให้บริการแก่ มาร์เช่ ทองหล่อ (โครงการมิกซ์ยูสในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์) โรงพยาบาลสินแพทย์ และ โรงพยาบาลวิมุต เป็นต้น และในอนาคตเราจะมีการเพิ่มธุรกิจ การ บริการด้านวิศวกรรม ทั้ง บริการบริหารงานปฏิบัติการควบคุมและซ่อมบำรุงงานวิศวกรรมระบบประกอบอาคาร (O&M) บริการด้านงานเทคนิคและบริการแจ้งซ่อม (S&M) โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนางานบริหารจัดการงานด้านธุรกการรวมไปถึงการบริหารจัดการภายใน เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเป็น จิ๊กซอร์ตัวที่สอง
– และการลงทุนในการพัฒนาปรับปรุงอพาร์ทเมนท์ หอพัก และพัฒนางานบริการให้กับอาคารในกลุ่มนี้ เพื่อสร้างรายได้จากการเช่าในระยะยาว เป็นจิ๊กซอร์ตัวที่สาม ในการขยายรายได้และกำไรของบริษัท โดยปัจจุบันเริ่มทำโครงการกับ U-Center ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย LPP ได้รับสัมปทานเข้าไปปรับปรุงหอพักเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้เช่า และสร้างรายได้จากการเช่าให้กับ LPP โดยบริษัทมีแผนที่จะเข้าไปพัฒนาอีกหลายโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา
จากแผนการขยายงานดังกล่าว ทำให้บริษัทมีความมั่นใจว่าจะสร้างรายได้เติบโตได้ตามแผนที่วางไว้คือมีรายได้ไม่น้อยกว่า 2,400 ล้านบาทในปี 2569 หรือ 2 เท่าของปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี จากรายได้รวมในปี 2565 ของกลุ่มที่อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท เติบโตถึง 39% เมื่อเทียบกับปี 2564 เป็นรายได้ของ LPP ที่ 1,030 ล้านบาท LPS ที่อยู่ที่ 50 ล้านบาท และ LSS 120 ล้านบาท
“สัดส่วนรายได้ของธุรกิจที่เป็นรายได้จากงานบริการทั้งหมดในปี 2569 จะมาจาก LPP LPS และ LSS คิดเป็นสัดส่วน 75% ของรายได้รวมของทั้งกลุ่ม และอีก 25% จะเป็นรายได้จากการไปปรับปรุงอาคารหอพัก อพาร์ทเมนท์ ที่รับรู้รายได้จากการเช่า” นายสุรวุฒิ กล่าว
ตั้งเป้าเข้าตลาดหุ้นปี 2567 ตามแผนธุรกิจดังกล่าว นายสุรวุฒิ เล่าว่า เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ LPP มีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนมาใช้การขยายงานให้ได้ตามแผนที่วางไว้ โดยแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน โดยมีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2567 โดยปัจจุบัน LPP มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ภายหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์บริษัทจะมี Market Capitalization (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด) ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยมี Free Float (สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย) ที่ 25%
การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาและขยายงานของ LPP โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการให้บริการในการบริหารจัดการชุมชนอย่างครบวงจรออกไปให้กับโครงการอาคารชุดพักอาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และอาคารประเภทอื่นๆ ที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ นอกเหนือจาก LPN โดยมีเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนของกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่ LPN เพิ่มขึ้นจาก 35% ในปี 2565 เป็น 50% ในปี 2567 รวมทั้งขยายงานให้บริการออกไปในต่างจังหวัดโดยจะขยายไปในพื้นที่ที่ LPP มีฐานการให้บริการอยู่ได้แก่ในพื้นที่พัทยา หัวหิน และอุดรธานี
“ถึงแม้ปัจจุบันผู้บริหารอาคารมีหลายบริษัท และมีการแข่งขันสูง แต่ด้วยคุณภาพและการพัฒนางานบริการสู่การเป็นผู้ให้บริการบริหารจัดการอาคารอย่างครบวงจร (Property & Facility Management Service Provider) ทำให้ LPP สามารถให้บริการที่ครบวงจรและมีคุณภาพที่ดีกว่าคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด ด้วยมาตรฐานการให้บริการที่เราคำนึงถึง สุขภาวะอนามัยที่ดี (Wellbeing) ในการดูแลและบริหารจัดการชุมชนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยในโครงการตามแนวคิด Smooth Your Living อันเป็นจุดแข็งที่สำคัญของ LPP ที่แตกต่างจากคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด” นายสุรวุฒิ กล่าว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดจากค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้นนั้น นายสุรวุฒิ กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงาน ผนวกกับแนวทางการบริหารจัดการที่เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการทำให้ LPP สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้
“จากประสบการณ์การทำงานมานานกว่า 31 ปี ของ LPP เราผ่านมาหลายวิกฤติ และแต่ละวิกฤติก็สร้างความแข็งแกร่งให้กับเรา ยิ่งวิกฤติ COVID-19 ยิ่งเป็นวิกฤติที่พิสูจน์ศักยภาพและคุณภาพงานบริหารและจัดการชุมชนของ LPP ได้เป็นอย่างดี จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ LPP เพื่อส่งต่อการพัฒนาและคุณภาพงานของ LPP ออกไปสู่ทุกชุมชนให้กลายเป็น “ชุมชนน่าอยู่” อย่างยั่งยืน(Sustainable Livable Community)” นายสุรวุฒิ กล่าวในที่สุด