Skip to content Skip to footer

เปิดมุมมอง ‘สังคมผู้สูงอายุ’ คู่ขนาน ‘วิกฤตและโอกาส’

วันที่ 18 ต.ค. 2567

          จากข้อมูลล่าสุดของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ประเทศไทย มีจำนวนผู้สูงอายุอายุเกิน 60 ปี กว่า 13.4 ล้านคน หรือสัดส่วน 20.70% ของจำนวนประชากรไทย ถือว่าก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดประเทศไทย ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบ
สุดยอดและมีสัดส่วนกว่า 30% ในปี 2576 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

          ทำให้ทุกธุรกิจเตรียมพร้อมทั้งการพัฒนาสินค้าและบริการ รองรับสังคมสูงวัย และมีมุมมองแตกต่างกันไป!!
อย่าง “สุรวุฒิ สุขเจริญสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด บริษัทบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์เครือ บริษัท
แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือแอล พี พี มองว่าการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย เป็นทั้งวิกฤต และโอกาส
 
⦁ วิกฤตที่รัฐต้องรับมือ

สุรวุฒิ ระบุ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นั้น เป็นได้ทั้งวิกฤตและโอกาส แง่วิกฤต เพราะเป็นวิกฤตของประเทศ เมื่อมีประชากรที่สูงอายุมากขึ้น หมายถึงประเทศมีจำนวนประชากร หรือกำลังคนทำงาน ที่สร้างรายได้ จ่ายภาษีให้กับประเทศลดลง ตามสัดส่วนประชากรในวัยทำงานลดลง ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายประเทศที่ต้องดูแลจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น มีผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารงบประมาณรายได้และรายจ่ายของรัฐบาล ทั้งเบี้ยคนชรา ค่ารักษาพยาบาล
จากภาพรวมงบประมาณปี 2567 (ตุลาคม 2566-กันยายน 2567) พบว่า รัฐบาลไทย ต้องจัดสรรงบประมาณที่เป็นรายจ่ายเพื่อสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่
60 ปี ขึ้นไป รวม 94,095.47 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของงบประมาณปี 2567 ที่ 3.48 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้กับจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ 11.83 ล้านคน คิดเป็นเงิน 93,215 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายกองทุนผู้สูงอายุ เงินอุดหนุนแบบต่างๆ จากการคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง ระบุปี 2576 งบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุของรัฐบาลไทยสูงถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2576
ส่วนองค์การสหประชาชาติ เปิดเผยตัวเลขและการคาดการณ์จำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั่วโลก พบว่า ในปี 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ที่ประมาณ 1.15
พันล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1.66 พันล้านคน ในปี 2583 ขยายตัวกว่า 45.2%
“เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อม รับมือกับสถานการณ์การคลังที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่มีรายได้ลดลง โดยกำหนดมาตรฐานและสถานที่สำหรับดูแลผู้สูงอายุ สร้างกลไกสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุสำหรับครอบครัวที่ลูกหลาน สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ เช่น ทำโครงสร้างภาษี เพิ่มค่าลดหย่อนให้กับบุตร จูงใจให้ครอบครัวดูแลและรับผิดชอบ
ผู้สูงอายุ รวมถึงนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทย เพื่อสร้างรายได้ชดเชยวัยแรงงานไทยลดลง ตัวอย่าง สิงคโปร์ ดึงวัยทำงานต่างประเทศ ให้เข้ามาทำงานในสิงคโปร์ ประเทศไทยต้องหาแผนรับมือแก้ไขปัญหาในระยะยาว” สุรวุฒิ กล่าว

⦁ โอกาสของธุรกิจบริการ

ขณะเดียวกัน สังคมสูงวัยเพิ่ม ก็เป็น “โอกาส” สำหรับผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ
เรื่องโอกาสนั้น สุรวุฒิระบุ เราสามารถแบ่งโอกาสในการทำธุรกิจบริการเพื่อตอบโจทย์กับสังคมสูงวัยที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ 4 ระยะ
ระยะแรก คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวก่อนเกษียณ เป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชากรในวัยทำงานที่เตรียมตัวสำหรับการเกษียณอายุ
ในอนาคต อาทิ ธุรกิจประกัน สำหรับคนวัยทำงานเตรียมพร้อมรับกับการเกษียณในอนาคต ซึ่งวันนี้ประกันชีวิตมีผลิตภัณฑ์หลายแบบที่ตอบโจทย์กับความต้องการ อาทิ กรรมธรรม์ Unit Link หรือประกันควบการลงทุน หรือธุรกิจที่ให้บริการในการปรับปรุงอาคารและที่พักอาศัย ที่จะปรับปรุงอุปกรณ์และติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อรองรับกับการใช้งานของผู้สูงอายุ รวมถึง เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่ปรึกษาด้านการออกแบบ และมีการให้คะแนนสำหรับอาคารทุกประเภท ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาคาร สามารถปรับราคาค่าเช่า และ ราคาขายสูงขึ้นได้
ระยะที่สอง คือ ระยะที่เข้าสู่วัยเกษียณ ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้เกษียณ หรือผู้สูงอายุ ที่ยังดูแลตัวเองได้ ต้องการงานบริการที่ตอบโจทย์กับการดูแลในเรื่องสุขภาพ
ทั้งเรื่องการตรวจสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงงานบริการภายในอาคาร ต้องจัดกิจกรรมที่พาผู้สูงอายุไปเที่ยว รวมถึงมีกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุทำงานร่วมกัน
ระยะที่สาม คือ ระยะของการรักษาโรค เป็นระยะที่ผู้สูงอายุต้องได้รับการรักษาและการดูแลอย่างใกล้ชิด นอกเหนือจากโรงพยาบาลแล้ว บริการการดูแลผู้สูงอายุ
ที่บ้าน รวมถึงสถานฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้สูงอายุ เป็นอีกธุรกิจที่มีโอกาสและมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น
ระยะที่สี่ คือ ระยะที่ร่างกายเสื่อมถอย เป็นระยะที่ต้องมีการบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในที่อยู่อาศัย หรือที่พัก รวมถึงจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างสมาชิกในวัยต่างๆ เป็นต้น จากผลการศึกษาในหลายประเทศ พบว่า การอยู่ร่วมกันระหว่างผู้สูงวัย กับสมาชิกในครอบครัวที่มีอยู่หลายเจเนอเรชั่น จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดีมากกว่า การอยู่ร่วมกันเฉพาะผู้สูงอายุ

อย่าง แอล พี พี บริหารโครงการอาคารชุดพักอาศัยกว่า 260 โครงการ รวม 200,000 ยูนิต ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พัทยา ชะอำ อุดรธานี ครอบคลุมประชากรไม่น้อยกว่า 400,000 คน ภายใต้แนวคิด Aging in Place ที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยในหลายเจเนอเรชั่นตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงวัยให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้สภาวะแวดล้อมและการดูแลที่เหมาะสมกับทุกวัย

ข้อมูลจากรายงานการวิจัยตลาดโดย Zion Market Research เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุทั่วโลก คาดว่าจะขยายตัวในอัตราการเติบโตประมาณ 7.5 % ต่อปีช่วงปี 2566-2575 โดยมูลค่าตลาดธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมธุรกิจ 1.ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบรายวัน 2.สถานบริบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ 3.ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1,025.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มเป็น 1,965.99 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2575 ด้วยปัจจัยของอายุขัยประชากรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น และภาวะการมีโรคประจำตัวต่างๆ ในวัยสูงอายุที่สูงขึ้น เช่น โรคสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์
ขณะที่ ตลาดธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดเติบโตสูงที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในโลก เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีที่
ทันสมัย ประกอบกับการที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมักเป็นจุดหมายปลายทางในการพำนักระยะยาวในวัยเกษียณของชาวต่างชาติจากทั่วโลก เป็นอานิสงส์กระตุ้นให้ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ

       ขณะที่ประเทศไทยมีธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุรูปแบบนิติบุคคล 887 ราย จำนวนโครงการปี 2566 มี 758 แห่ง เป็นประเภทสถานบริบาลผู้สูงอายุ หรือเนอร์สซิ่งโฮม 708 แห่ง ใน 55 จังหวัด และช่วงปี 2561-2566 จำนวนเนอร์สซิ่งโฮม ขยายตัวเฉลี่ย 25.1% ต่อปี และกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ จึงเป็นโอกาสขยายโอกาสธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์ข้อมูลกสิกรไทย คาดจะมีมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า และบริการสำหรับ
ผู้สูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพ บริหารการเงินเพื่อเกษียณ การใช้จ่ายท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในปี 2567 ที่ 1.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน10% ของ
จีดีพีไทย คาดมูลค่าพุ่งสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2572

“ผมมองว่า การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย เป็นโอกาสสำหรับการพัฒนางานบริการที่สามารถสอบสนองต้องการของผู้สูงอายุ ปัจจุบันผู้สูงอายุประมาณ 11% หรือประมาณ 1.48 ล้านคน เป็นกลุ่มมีกำลังซื้อสูง เป็นโอกาสผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ธุรกิจนี้” สุรวุฒิกล่าว
⦁ แนะอสังหาฯเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส
นอกจากธุรกิจบริการ สุรวุฒิระบุว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกธุรกิจต้องปรับตัวในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุ ทั้งพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย อาคารชุดและบ้านพักอาศัย ในปัจจุบันและอนาคต ต้องพัฒนาโครงการในแบบของ Universal Design เหมาะสำหรับผู้อยู่อาศัยทุกวัย ที่เป็นสมาชิก
ในครอบครัว รวมถึงการให้บริการดูแลสุขภาพรูปแบบดูแลสุขอนามัยที่ดี (Wellness) อย่าง แอล พี พี เราให้ความสำคัญพัฒนางานบริการที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุที่อยู่ในโครงการ มีระบบการลงทะเบียนผู้สูงอายุ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในสถานการณ์ฉุกเฉิน ติดตั้งเครื่อง AED (เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ อัตโนมัติ) ให้ครบทุกโครงการ รวมถึงการจับมือกับโรงพยาบาลในการส่งต่อผู้ป่วยจากโครงการในกรณีฉุกเฉิน และร่วมมือกับพันธมิตร เป็นต้น
จากความเห็นข้างต้น การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย จะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทย เป็น Retirement Medical Hub ของภูมิภาค และอีกหนึ่งโอกาสสร้าง
ผู้ประกอบการตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
 
ที่มา  : เว็บไซต์  Matichon Online