Skip to content Skip to footer

เปิดแผนลงทุน "LPP" พร้อมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 67

                                                                                                                                                                                                                                                  28 มี.ค. 2567

                 บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้  มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP บริษัทลูกของ LPN ที่มีอายุครบ 32 ปี และก้าวสู่ปีที่ 33 อย่างแข็งแกร่งด้วยอัตราการเติบโตถึง 30% รายได้แตะ 1,500 ล้านบาท ด้วยสภาพของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสมากขึ้น โดย LPP เตรียมแผนลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง รับแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2567

               บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้  มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP เป็นบริษัทลูกของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (LPN) ที่มีอายุห่างจากแม่เพียง 2 ปี ในช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์บูม การขับเคลื่อนลงทุนและแผนธุรกิจต่าง ๆ จึงมาจากบริษัทแม่เป็นหลัก แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ขณะที่ธุรกิจสนับสนุนอย่างการบริหารจัดการโครงการฯกลับเติบโตและมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป

                    LPP ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ พร้อมวางยุทธศาสตร์ 5 ปี (2565 – 2569) ก้าวสู่ผู้นำในธุรกิจบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร (Property & Facility Management Service Provider) โดยตั้งเป้ามีรายได้รวมกว่า 2,000 ล้านบาท ในปี 2569 ผ่านมา 2 ปี LPP สามารถทำรายได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยวิสัยทัศน์ของ สุรวุฒิ สุขเจริญสิน  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้  มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP ในการมองหา New S – Curve ใหม่อยู่ตลอดเวลา

3 ปี รายได้เติบโต 10-20% ต่อปี

              สุรวุฒิ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ LPP ในปี 2566 นี้ คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีรายได้ 1,200 ล้านบาท และในปี 2567 บริษัทได้ตั้งเป้าหมายรายได้ที่ 1,800 ล้านบาท เติบโตจากปีนี้อีก 20% ซึ่งจะทำให้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของ LPP ถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าที่คาด

              “เราดำเนินการไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ หลังปรับโครงสร้างองค์กรเมื่อปี 2564 และเมื่อมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามา เราพร้อมที่จะเปิดรับ ทำให้บริษัทขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเราพร้อมสร้างการเติบโตอย่างไม่จำกัดในช่วง 1- 2 ปีข้างหน้า” สุรวุฒิกล่าว

              LPP มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2567 ซึ่งการดำเนินงานยังเป็นไปตามแผน คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งต่อก.ล.ต.ได้ในเดือนเมษายน คาดว่าจะเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 150 เป็น 200 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าหลังเข้าตลาดฯ จะมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม ปัจจุบันธุรกิจบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรมีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท

              ทั้งนี้ ในกลุ่มบริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้  มาเนจเมนท์ มี 3 บริษัท ได้แก่ LPP บริหารจัดการนิติบุคคลให้กับคอนโดมิเนียมและบ้านรวม 300 โครงการ บริษัท แอล พี เอส โปรเจค มาเนจเมนท์ จำกัด (LPS) บริการงานออกแบบด้านวิศวกรรม และ บริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่นส์ จำกัด (LSS) บริการแม่บ้านและรปภ.

              โดย LPP มีสัดส่วน 80% จากรายได้รวม ขณะที่ LPS และ LSS มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในอนาคตสัดส่วนจากธุรกิจบริการด้านวิศวกรรมจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ต้องมีการปรับปรุงอาคารเก่า รวมถึงการอัปเกรดเทคโนโลยีสู่ Smart Building และการติดตั้งระบบ IOT

ลงทุนเพิ่มขยายโอกาสธุรกิจ

             สุรวุฒิ กล่าวว่า จากแนวโน้มตลาดการปรับปรุงและอัปเกรดอาคารเก่าที่ขยายตัวสูง เนื่องจากการขยายตัวของรถไฟฟ้า บริษัทฯ ได้เข้าซื้อบริษัท พี ดับบลิว กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  (PWG) ให้บริการรับเหมาก่อสร้าง งานระบบต่าง ๆ เป็นบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจจากศูนย์การค้าอย่างสยามพารากอน รวมถึงโรงแรม และโรงพยาบาลชั้นนำในปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 80 ล้านบาท

             ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 130 ล้านบาท โดย LPP เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 60% โดยบริการต่าง ๆ ที่จะเข้าไปติดตั้งเพิ่มเติมให้กับลูกค้า อาทิ โซลาร์ รูฟ สถานีชาร์จ EV และระบบประหยัดพลังงานเครื่องปรับอากาศ

               “สิ่งที่ลูกบ้านต้องการมากที่สุดตอนนี้ คือการติดตั้งระบบประหยัดพลังงาน โซลาร์ รูฟ ส่วนสถานีชาร์จ EV มีประมาณ 7 โครงการ ส่วนเทรนด์ Smart Building กำลังมา การลงทุนการปรับปรุงด้านวิศวกรรม ช่วยทำให้โครงการมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ยิ่งลูกค้าเห็นประโยชน์ ก็จะยิ่งทำให้บริษัทเติบโตเร็ว”

               นอกจากนี้ LPP ยังขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการเข้าบริหารโครงการที่พักนิสิตจุฬาฯ จำนวน 460 ห้อง โดยได้รับสัมปทานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 7 ปี ซึ่งสุรวุฒิ มองว่า การเข้าบริหารโครงการที่พักอาศัยระดับกลางขึ้นไปที่มีจำนวน 100 ห้องขึ้นไป มีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น เพราะเจ้าของโครงการต้องการมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหาร ในปี 2567 บริษัทฯจึงตั้งงบลงทุน 200 – 300 ล้านบาท เพื่อหาโอกาสในการเข้าประมูลปรับปรุงและบริหารโครงการเหล่านี้เพิ่มขึ้น

               รวมทั้งจะลงทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่สามารถให้บริการในระบบดิจิทัลทั้งสัญญา การบริหารงานบุคคล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วและไร้เอกสาร

              สุรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจของ LPP มีปัญหาที่น่ากังวล คือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท ทำให้ต้นทุนแม่บ้านและรปภ.เพิ่มขึ้นทันที รวมถึงการคำนวณค่าล่วงเวลาใหม่จะมีผลทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 50 – 60% ทันที ซึ่งบริษัทได้เตรียมแผนรองรับในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริหารคนให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

              “เรายึดมั่นตามแนวทางของบริษัทแม่ในการต่อยอด “ชุมชนน่าอยู่” ด้วยการขยายบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกบ้าน ผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง และวันนี้เราเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้ และพร้อมที่จะลงทุนกับธุรกิจที่เป็น New S Curve เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในอนาคต” สุรวุฒิกล่าว